หุบเขากษัตริย์ เป็นหุบเขาแห่งสุสานที่ฝังหลุมศพของกษัตริย์และราชวงศ์ในราชอาณาจักรใหม่ (ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 18 ถึง 20 ของอียิปต์โบราณ) หุบเขากษัตริย์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ฝั่งตรงข้ามกับเมืองธีปส์ หรือเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน ในปี 2006 ได้มีการค้นพบห้อง เควี 63 และในปี 2008 ได้ค้นพบทางเข้าสุสานอีก 2 แห่ง หุบเขานี้มีหลุมศพอยู่ 64 แห่ง มีห้องมากกว่า 120 ห้อง เป็นที่ฝังพระศพที่สำคัญของราชวงศ์ของอาณาจักรใหม่แห่งอียิปต์โบราณ รวมถึงยังมีสุสานของบุคคลสำคัญอีกหลายแห่ง สุสานตกแต่งด้วยภาพของเทพเจ้าอียิปต์และได้ให้ข้อมูลความเชื่อเกี่ยวกับพิธีศพในช่วงเวลานั้น สุสานทั้งหมดดูเหมือนจะถูกเปิดและโจรรกรรมวัตถุโบราณไปแล้ว แต่ก็ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับความมั่งคั่งและอำนาจในการปกครองในยุคนั้น
หุบเขากษัตริย์ โด่งดังมาจากการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ที่เป็นที่เลื่องลือด้านคำสาปฟาโรห์และยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่โบราณคดีที่โด่งดังที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 1979 ถูกยกให้เป็นมรดกโลก ร่วมกับส่วนที่เหลือของธีบันเนโครโพลิส การค้นพบการขุดค้นหาวัตถุโบราณและการอนุรักษ์ยังคงดำเนินการต่อไป และยังถือเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

9 สุสานของราชินีฮัตเชปสุต Mortuary Temple of Queen Hatshepsut
เป็นสุสานที่ขุดเจาะเข้าไปในภูเขาที่เมืองเดียร์อัล-บาฮารี (Dier el Bahri) สุสานของพระนางฮัตเชปสุตสร้างโดยสถาปนิกชื่อ เซนมุท (Sen-Mut) สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 1450 ปีก่อนคริสตกาล ประกอบด้วยถนนใหญ่ตัดตรงไปสู่วิหาร บริเวณสองข้างทางมีสฟิงซ์เรียงรายอยู่ หน้าวิหารมีเสาซึ่งเป็นแท่งหินจารึกอักษรภาพ (obelisk) วิหารสร้างเป็นยกพื้นซ้อนกันเป็นชั้นเหมือนขั้นบันได (terrace) แต่ละชั้นมีแถวของเสาชั้นละ 22 ต้น ระหว่างชั้นเชื่อมด้วยทางเดินลาดสูงขึ้นไป ห้องพิธีกรรมอยู่บริเวณในสุด มีรูปสลักลอยตัวประมาณ 200 รูปประดับอาคาร ภายในอาคารแต่ละชั้นมีภาพสลักนูนต่ำระบายสี แสดงเรื่องราวของพระนางตั้งแต่ประสูติ สถาปนาเป็นราชินี ไปจนถึงสิ้นพระชนม์

8 วิหารเมดิเนต ฮาบู Medinet Habu
วิหารเมดิเนต ฮาบู เป็นวิหารที่ตังอยู่ทางทิศตะวันตกของธีบส์ ส่วนด้านบนของวิหารจะหันไปทางทิศใต้ วิหารแห่งนี้เป็นวิหารที่ใช้ในการประกอบพิธีศพของฟาโรห์รามเมสที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 20 วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบซีเรีย ที่ทำหน้าที่เหมือนกับป้อมปราการ ในอดีต ด้านหน้าของวิหารจะมีท่าเรือ อยู่เชื่อมกับประตูแม่น้ำไนล์ โดยคลองเล็กๆ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างป้อมปราการเอาไว้ด้านหน้า วิหารแห่งนี้อยู่ในสภาพที่เกือบจะสมบูรณ์และผนังบางส่วนยังมีสีอยู่บ้าง อีกหนึ่งจดเด่นของวิหารแห่งนี้นั้นก็คือ ไพลอน ที่มีขนาดหึมาสูงประมาณ 27 เมตร และมีการชำรุดไปแล้วบางส่วน

7 พีระมิดโซเซอร์ Pyramid of Djoser
พีระมิดโซเซอร์ หรือ พีระมิดแห่งซักคารา นับเป็นพีระมิดแห่งแรกของอียิปต์ ที่ฟาโรห์โซเซอร์ แห่งราชวงศ์ที่ 3 เป็นผู้สร้างขึ้น โดยมี อิมโฮเทป (Imhotep) ที่ปรึกษาประจำองค์ฟาโรห์เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ลักษณะที่สำคัญคือเป็น พีระมิดขั้นบันใด (Step Pyramid) ซ้อนกันรวม 6 ชั้น ในขณะที่พีระมิดยุคต่อมาจะไม่มีลักษณะของขั้นบันไดให้เห็น ก่อนหน้านี้สุสานของฟาโรห์จะสร้างอยู่ใต้ดินโดยปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างที่ไม่สูงมากนักเรียกว่า มัสตาบา (Mastaba)

6 วิหารลักซอร์ Luxor Temple
วิหารลักซอร์ เป็นวิหารที่ตั้งอยู่ในเมืองลักซอร์ ทางภาคกลางของอียิปต์ สร้างขึ้นโดย ฟาโรห์อเมโนฟิสที่ 3 ประมาณ 3,400 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงสร้างวิหารแห่งนี้พร้อมกับการบูรณะต่อเติมวิหารคาร์นักไปด้วย หากนับวิหารถึงปัจจุบันจะมีอายุรวม 3,400 ปี วิหารได้รับการปฏิสังขรณ์สานต่อจากฟาโรห์องค์ต่อมาหลายพระองค์ แต่ที่เด่นที่สุดจนวิหารแห่งนี้ดูสมบูรณ์แบบสวยงามนั้นเป็นฝีมือของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่นี่เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองเพื่อการพักผ่อนของเทพอะมอนราและครอบครัวคือเทวีมัตและเทพคอนส์หรือคอนชู หน้าวิหารมีเสาโอเบลิสก์ตั้งโดดเด่น 1 ต้น เป็นสัญลักษณ์ควบคู่วิหารแห่งนี้ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง เข็มแข็ง มั่นคง มีความหมายถึงชีวิต ความสว่างและความรุ่งโรจน์ ปกติแล้วมักจะนิยมวางเสานี้เป็นคู่ แต่ปัจจุบันอีกต้นถูกนำไปตั้งไว้ที่ปลาซเดอลาคองคอร์ด กลางกรุงปารีส เพื่อเป็นของขวัญแก่ประเทศฝรั่งเศสในสมัยของโมฮาเหม็ด อาลี ดาชา (Mohamed Ali Dasha) เมื่อปี ค.ศ. 1819

5 วิหารคาร์นัก Karnak Temple
มหาวิหารคาร์นัก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลักซอร์ 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าอะมอนรา (สุริยะเทพ) และเพื่อเป็นสถานที่จัดพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อของอียิปต์โบราณ คาร์นักเป็นชื่อหมู่บ้านของเทพอะมอน เดิมชื่อเมืองวาเซ็ต แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครธีบส์ เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรไอยคุปต์มาตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 11 จนถึงราชวงศ์ที่ 21 รวมเวลานับ 1,000 ปี (2120-1085 ปีก่อนคริสตกาล) และกลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งเป็นเวลา 50 ปี ในราชวงศ์ที่ 25 716-666 ปีก่อนคริศตกาล วิหารคาร์นักสร้างโดยฟาโรห์เซซอสตริสที่1 ( Sesostris I ) และอีกหลายพระองค์ต่อมา ซึ่งอยู่ในสมัยยุคกลาง หลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในหมู่วิหารของเทพอะมอนรา คือห้องบูชาและห้องแท่นบูชาเรือศักดิ์สิทธิ์ของเทพอะมอนรา ที่สร้างโดยฟาโรห์เซซอสตริสที่ 1 (Sesostris I) ต่อมาได้รับการต่อเติมปฏิสังขรณ์ขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆทุกยุค วิหารแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวอียิปต์โบราณ เทพเจ้าอะมอนราก็เป็นสุริยะเทพอันยิ่งใหญ่และเป็นเทพประจำเมืองนี้มาโดยตลอด

4 อนุสาวรีย์แห่งเมมนอน Colossi of Memnon
อนุสาวรีย์แห่งเมมนอน เป็นรูปกาะสลักหินทรายขนาดใหญ่ 2 รูป มีความสูงถึง 20 เมตร มีน้ำหนัก 750 ตัน ซึ่งสมัยก่อนเป็นวิหารที่ใช้ฝังพระศพของฟาโรห์อเมนโนฟิสที่ 3แต่เมื่อ 27 ปีก่อนคริสตกาลเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ทำให้ตัววิหารทั้งหลังพังลงมา เหลือเพียงรูปสลัก 2 รูปเท่านั้น ซึ่งต่างมีตำนานที่เล่าต่างกันไป แต่บ้างก็ว่าอาจจะได้ยินเสียงออกมาจากรูปสลักทั้งสองนี้ก็เป็นได้

3 มวิหารอะบูซิมเบล Abu Simbel Temples
มหาวิหารอะบูซิมเบล เป็นมหาวิหารของอียิปต์โบราณอันประกอบขึ้นจากหินขนาดใหญ่สองก้อน มีลักษณะเป็นรูปปั้นองค์ฟาโรห์ทั้งสี่ ส่วนองค์ที่สองถล่มลงเนื่องจากแผ่นดินไหว ตั้งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ บนริมฝั่งตะวันตกของทะเลสาบนัสซอร์ ระยะทางประมาณ 290 กิโลเมตรจากอัสวาน และเป็นโบราณสถานหนึ่งในมรดกโลกขององค์การยูเนสโก นอกจากนี้ยังรู้จักกันในนาม อนุสรณ์สถานแห่งนิวเบีย แต่เดิมมหาวิหารถูกก่อสร้างโดยการเจาะแกะสลักเข้าไปในภูเขาหินในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในช่วงศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาล และยังเป็นอนุสรณ์สถานแห่งสุดท้ายของพระองค์และพระมเหสีของพระองค์นั้นคือพระนางเนเฟอร์ทารี ซึ่งอะบูซิมเบล ยังมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองกับชัยชนะของอียิปต์ที่มีต่อนิวเบียที่สมรภูมิแห่งคาเดส อีกทั้งเพื่อเป็นการข่มขู่นิวเบียไม่ให้มารุกรานอียิปต์ซึ่งเป็นอาณาจักรใกล้เคียง อย่างไรก็ตามมหาวิหารทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายโดยคณะวิศวกรจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งทศวรรษที่ 1960 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนอัสวาน อันจะส่งผลให้มหาวิหารและโบราณสถานที่รายรอบอยู่ต้องจมอยู่ก้นทะเลสาบนัสซอร์ ปัจจุบันมหาวิหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากและโด่งดังแห่งหนึ่งของอียิปต์ ซึ่งครั้งหนึ่งนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันและญี่ปุ่นเคยถูกลอบสังหารขณะเดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้

2 มหาสฟิงซ์ The Great Sphinx Of Giza
มหาสฟิงซ์ (The Great Sphinx of Giza) คือ รูปสฟิงซ์แกะสลักด้วยหินขนาดใหญ่ที่สุด ใน ประเทศอียิปต์ มีตัวเป็น สิงโต และมีหัวเป็น มนุษย์ อยู่ในบริเวณหมู่พีระมิดทั้ง 3 แห่งกิซ่า หมอบเฝ้าอยู่ใกล้กับ พีระมิดคาเฟร โดยหันหน้าไปทาง ทิศตะวันออก สฟิงซ์คือชื่อ สัตว์ประหลาด ในตำนานไอยคุปต์วิทยา และมีในตำนานชนชาติอื่นด้วย มีลักษณะต่างกันไป แต่จะมีตัวเป็นสิงโตเหมือนกัน สฟิงซ์ในตำนานกรีก มีใบหน้าและช่วงอก เป็นหญิงสาว มีปีกแบบนกอินทรีย์ และสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ สฟิงซ์จะคอยถามคำถาม กับมนุษย์ที่หลงมาพบมันเข้า หากตอบคำถามไม่ได้ มนุษย์ผู้เคราะห์ร้ายนั้นก็จะถูกสังหาร ส่วนสฟิงซ์ของอียิปต์โบราณ ไม่มีปีกมีหน้าเป็นมนุษย์ผู้ชาย และยังมีแบบที่หัวเป็นแกะ (Criosphinx) และหัวเป็นนกเหยี่ยว (Hierocosphinx) อีกด้วย

1 มหาพีระมิดแห่งกีซา Great Pyramid of Giza
พีระมิดคูฟู หรือ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา เป็นพีระมิดในประเทศอียิปต์ที่มีความใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่ง ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพ ไว้รอการกลับคืนชีพ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้น มหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา themysteriousworld