10 งูทะเล
งูทะเล ทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 50 ชนิด พบตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าเป็นงูบกที่พัฒนาการลงมาสู่น้ำ โดยปกติ งูทะเลจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้นที่อบอุ่น หากินปลาเป็นอาหารหลัก มีรูปร่างคล้ายงูบก แต่มีส่วนที่แตกต่างออกไปคือ เกล็ด บางชนิดมีเกล็ดเป็นมัน บางชนิดมีเกล็ดฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ลำตัวลื่นคล้ายปลา หางแบนราบคล้ายใบพาย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใช้สำหรับว่ายน้ำ สีสันลำตัวเป็นปล้อง จึงทำให้จำแนกด้วยตาเปล่าได้ยากว่าชนิดไหนเป็นชนิดไหน โดยทั่วไปงูทะเลมีความยาวเต็มที่ประมาณ 50 - 70 เซนติเมตร แต่ก็มีบางชนิดที่ยาวได้ถึง 2 เมตร และมักอาศัยตามทะเลโคลนหรือทะเลที่มีน้ำขุ่นมากกว่าทะเลน้ำใส งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูพิษ และเป็นงูพิษร้ายแรงด้วย พิษของงูทะเลเป็นพิษที่ทำลายระบบประสาท เช่นเดียวกับงูในจำพวกงูสามเหลี่ยม อาการที่โดนพิษจะออกฤทธิ์ช้ากว่างูบก โดยจะออกฤทธิ์เมื่อถูกกัดไปแล้วนานถึงครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง จึงมักมีผู้ถูกงูทะเลกัดเสียชีวิตบ่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว แต่งูทะเลก็มีศัตรูตามธรรมชาติ คือ นกอินทรี ที่โฉบงูทะเลกินเป็นอาหาร
9 ปลาสาก
ปลาสาก มีลักษณะโดยรวม คือ มีลำตัวค่อนข้างกลมยาว หัวแหลม ปากกว้าง กรามล่างยื่นยาวกว่ากรามบน มีฟันแหลมคมแข็งแรง ตาโต เกล็ดเล็กบางขอบเรียบ มีครีบหลัง 2 ตอน พื้นลำตัวมีสีแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด ทั้งสีน้ำตาลอมเหลือง หรือลายบั้งขวางลำตัวเป็นท่อน ๆ หรือแต้มจุด แต่โดยมากมักเป็นสีฟ้าเทา ครีบหางเป็นแฉกรูปตัววี ปลาสาก สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ เช่นเดียวกับปลาฉลาม ด้วยการกัดจากกรามและฟันที่แข็งแรง สามารถงับปลาอื่นที่เป็นอาหารให้ขาดสองท่อนได้จากการงับเพียงครั้งเดียว ที่สหรัฐอเมริกามีกรณีที่ปลากระโดดขึ้นมาจากน้ำงับแขนของเด็กผู้หญิงวัย 14 ปีที่นั่งอยู่บนเรือ เป็นแผลฉกรรจ์ต้องเย็บไปทั้งสิ้น 51 เข็ม แต่ไม่เคยมีรายงานว่าทำอันตรายได้ถึงแก่ชีวิต
8 ปลาไหลมอเรย์
ปลาไหลมอเรย์มีกรามที่แข็งแรงและฟันที่แหลมคม แม้จะมีหน้าตาน่ากลัว แต่ไม่ใช่เป็นปลาที่ดุร้าย กลับกันกลับเป็นปลาที่รักสงบ แต่จะจู่โจมใส่ผู้ที่บุกรุก โดยหลายครั้งที่นักประดาน้ำไปเผลอรบกวนโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็อาจถูกกัดเป็นแผลเหวอะหวะถึงขั้นนิ้วขาดได้ เพราะฟันที่แหลมคมและการกัดที่ไม่ปล่อย และอีกช่วงที่ปลาไหลมอเรย์จะดุร้าย คือ ในฤดูผสมพันธุ์ โดยปกติแล้วปลาไหลมอเรย์จะอาศัยอยู่ตามโพรงหินหรือซอกปะการังในแนวปะการัง โดยยื่นแต่เฉพาะส่วนหัวโผล่ออกมาราว 1/4 ของความยาวลำตัว พร้อมกับอ้าปากส่ายหัว เพื่อป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยและหาเหยื่อ ที่จะออกมาว่ายน้ำนั้นจะเป็นช่วงเวลากลางคืนที่หาอาหาร
7 ปลาหิน
ปลาหิน มีรูปร่างโดยรวม คือ ลำตัวป้อมเกือบกลม หัวขนาดใหญ่ส่วนหัวมีหนามจำนวนมาก สีลำตัวคล้ำมีลายเลอะ ทำให้แลดูคล้ายก้อนหิน ลำตัวสากและมีหนามเล็ก ๆ หนังหนาและเป็นปุ่ม เกล็ดละเอียด บางชนิดไม่มีเกล็ด ครีบหลังยาว ครีบอกกว้าง มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบอก และครีบท้อง ก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นหนาม ซึ่งก้านครีบนี้มีพิษร้ายแรงมาก โดยต่อมพิษของก้านครีบแข็งอยู่ใต้ชั้นผิวโดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ พิษจะถูกปล่อยออกเมื่อเยื่อหุ้มหนามฉีกขาด อันตรายเกิดจากการไปสัมผัสถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่าง ๆ และหนามบริเวณหัว เนื่องจากปลาหินชอบอยู่นิ่ง ๆ ทำให้ดูคล้ายก้อนหิน อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ หากไปสัมผัสหรือเหยียบได้ พิษมีความรุนแรงมากเมื่อถูกตำหรือบาดจะปวดและบวมทันที ความเจ็บปวดอาจอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ในกรณีที่รับพิษจำนวนมากหรือแพ้ ผู้ได้รับพิษอาจมีอาการคอแห้ง ปวดเมื่อยตามข้อต่าง ๆ ซึม เพ้อ ไม่ได้สติ จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด โดยปลาหินถือว่าเป็นปลาจำพวกหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก
6 ปลากระเบนธง
ลักษณะเด่นของปลากระเบนในกลุ่มนี้ คือ ที่บริเวณโคนหรือกึ่งกลางหางจะมีเงี่ยงแหลมยาว 1-2 ชิ้น ที่ใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงศัตรูที่มารังควาญได้ โดยอาจมีความยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร (14 นิ้ว) และมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษเคลือบอยู่ ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารโปรตีน ที่มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ที่โดนแทงเกิดความเจ็บปวด ในปลากระเบนขนาดใหญ่จะออกฤทธิ์คล้ายพิษของงูกะปะ ซึ่งหากโดนแทงเข้าอย่างจังหรือโดนจุดสำคัญ อาจทำให้เสียชีวิตได้ เงี่ยงแหลมดังกล่าวจะมีในปลากระเบนทุกสกุล ทุกชนิด ยกเว้นปลากระเบนแมนตา และปลากระเบนขนุน เท่านั้นที่ไม่มีเงี่ยงแหลมดังกล่าว ซึ่งเงี่ยงอันนี้สามารถที่จะหลุดไปได้ เมื่อปลามีอายุเพิ่มมากขึ้นหรือจากสาเหตุอื่น ๆ แต่ก็สามารถงอกใหม่ทดแทนได้
5 ปลาฉลามเสือ
ปลาฉลามเสือ นับได้ว่าเป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่งที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมีนิสัยดุร้ายและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เลือก ในพื้นที่ทะเลของไทยนับได้ว่าเป็นปลาฉลามที่อาจทำร้ายมนุษย์หรือนักดำน้ำได้ร่วมกับ ปลาฉลามหัวบาตร และ ปลาฉลามครีบดำ โดยสถานที่ ๆ มีรายงานปลาฉลามเสือทำร้ายนักดำน้ำหรือนักโต้คลื่นมากที่สุด คือ ฮาวาย เชื่อว่าเกิดจากเหตุที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงทำให้ปลาฉลามเสือเห็นกระดานโต้คลื่นผิดไปเป็นแมวน้ำซึ่งเป็นอาหาร กอรปกับการที่มีเต่าทะเลซึ่งเป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งกระจายพันธุ์สูงด้วย
4 ปลาฉลามขาว
เรื่องของปลาฉลามขาวจู่โจมมนุษย์ เป็นที่รู้จักกันมากผ่านทางภาพยนตร์ อย่างเช่นเรื่อง จอร์ (Jaws) ผลงานของสตีเว่น สปิวเบอร์ก (Steven Spielberg) แสดงให้เห็นถึงภาพฉลามที่โหดร้าย กินคน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับมนุษย์ ให้ฝังในใจของผู้ชม ซึ่งอันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อของฉลามตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีรายงานยืนยันฉลามจู่โจมมนุษย์เพียง 31 รายในรอบ 200 ปี และเป็นส่วนน้อยที่เสียชีวิต กรณีที่เสียชีวิตจะเป็นกรณีที่ฉลามลองกัดดูมากกว่า เพราะอยากรู้อยากเห็น ปลาฉลามขาวยังลองกัดพวกสิ่งของอื่นๆ เช่น ทุ่นลอยน้ำ และของที่มันไม่คุ้นเคยอื่นๆ และบางครั้งก็จะใช้เพียงริมฝีปากกัดโดนนักเล่นเซิร์ฟ เพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่
3 จระเข้น้ำเค็ม
จระเข้น้ำเค็มมีอุปนิสัยดุร้ายมาก สามารถโจมตีสัตว์ที่โดยปกติไม่ใช่อาหารได้ เช่น มนุษย์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางถิ่นของออสเตรเลียที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในเรื่องการโจมตีมนุษย์ของจระเข้น้ำเค็ม อีกทั้งมีการกัดของกรามได้อย่างรุนแรงมากที่สุดในโลก โดยมีแรงมากถึง 1,700 ปอนด์ และสามารถกระโดดงับเหยื่อได้ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ในสัตว์เลื้อยคลายขนาดใหญ่เช่นนี้ จนกระทั่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Man Eater" ซึ่งในสวนสัตว์บางแห่งได้ใช้ความสามารถพิเศษอันนี้หลอกล่อให้จระเข้กระโดดงับเหยื่อที่แขวนล่อไว้เพื่อแสดงแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม
2 หมึกสายวงน้ำเงิน
โดยที่สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า Tetrodotoxin (TTX) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้าพิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิต คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต การปฐมพยาบาลต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย
ต้นกำเนิดของพิษในน้ำลายของหมึกสายวงน้ำเงินเกิดจากผลผลิตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมันแบคทีเรียดังกล่าวประกอบด้วย Bacillus และ Pseudomonas พิษ TTX และแบคทีเรียยังพบได้ในไข่ของหมึก สันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการส่งถ่ายความสามารถในการสร้างพิษจากแม่หมึกไปยังลูก โดยพบได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยด้วยซ้ำ
1 คูโบซัว
คูโบซัว จัดเป็นแมงกะพรุนที่แบ่งออกได้เป็น 2 อันดับใหญ่ ๆ โดยดูที่ลักษณะของหนวดที่มีพิษเป็นสำคัญ ได้แก่ พวกที่มีหนวดพิษเส้นเดี่ยวที่ขอบเมดูซ่า 4 มุม เช่น แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) กับพวกที่มีหนวดเป็นกลุ่มที่ขอบเมดูซ่า 4 มุม มุมละ 15 เส้น ซึ่งจะเป็นหนวดที่ยาวมาก อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ได้แก่ Chironex fleckeri มีเข็มพิษประมาณ 5,000,0000,000 เล่มที่หนวดแต่ละเส้น ซึ่งมีพิษร้ายแรงซึมเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกต่อยได้ โดยมากจะพบตามชายฝั่งของทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่น ออสเตรเลียทางตอนเหนือ, ปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะฟิลิปปิน, หมู่เกาะฮาวาย ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
ที่มา wonderslist