Type Here to Get Search Results !

10 ปลาหมอ

1.ปลาหมอแคระแม่กลอง
           ปลาหมอแคระแม่กลอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Badis khwae) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอแคระ (Babidae)  มีช่วงลำตัว ช่วงระหว่างตา และจุดเริ่มต้นของครีบหลังยาว โดยรวม จึงเป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างยาวอาศัยอยู่ในลำธารที่มีระบบนิเวศจำเพาะ ที่มีปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามฤดูกาล ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในที่เดียวกันและได้วิวัฒนาการปรับตัวตามการผันแปรตามฤดูกาลของลำธาร
            ค้นพบครั้งแรกโดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักสำรวจธรรมชาติและนักมีนวิทยาชาวไทยที่ต้นแม่น้ำแควน้อย ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น จึงเป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย



2.ปลาหมอไทย
               ปลาหมอไทย ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus ในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดแบบหยัก ผิวสาก เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านครีบแข็งแหลมคมจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส ลำตัวด้านท้องมีสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ตอนบนของของช่องเหงือก จึงสามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ และสามารถอยู่บนบกหรือพื้นที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในฤดูฝนบางครั้งจะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยความสามารถอันนี้ในภาษาอังกฤษจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า "Climbing perch" หรือ "Climbing gourami"

ปลาหมอกำลังแถกเหงือกบนบก
            ความยาวยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบถึง 20 เซนติเมตร มีพฤติกรรมการวางไข่โดยตัวผู้และตัวเมียช่วยกันปรับที่วางไข่ โดยวางไข่ลอยเป็นแพ แต่จะปล่อยให้ลูกปลาเติบโตขึ้นมาเอง
ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกแหล่งน้ำ กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค และเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยใช้เป็นอาหารมาช้านาน และมีความเชื่อว่าหากปล่อยปลาหมอจะทำให้ไม่เป็นโรคหรือหายจะโรคได้ ด้วยชื่อที่มีความหมายถึงหมอหรือแพทย์ผู้รักษาโรค และนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในปลาที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่มีราคาขายแพงอีกด้วย
มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น "ปลาหมอไทย", "ปลาเข็ง" หรือ "ปลาสะเด็ด" ในภาษาอีสาน เป็นต้น

3.ปลาหมอเเคระ ( Apistogramma )

ปลาหมอแคระ ( Apistogramma )
         ปลาหมอที่คนทั่วๆ ไปรู้จักและเข้าใจกันว่า เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ดุร้าย ชอบทำลายต้นไม้น้ำในตู้ปลาที่ผู้เลี้ยงตั้งใจจัดตกแต่ง ให้ตู้ปลาของตนเองดูสวยงาม และเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญคือ มักจะขอบไล่กัดกันเอง เพราะปลาหมอเป็นปลาที่หวงที่อยู่อาศัย ของตัวเองมาก ด้วยเหตุนี้ผู้เลี้ยงมักจะเข้าใจพฤติกรรมของปลาหมอไปในทางเดียวกัน แต่อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจเชื่อนะครับ เนื่องจากปลาหมอที่มีนิสัยไม่ดุร้าย และไม่ชอบทำร้ายข้าวของก็ยังมี เดี๋ยวผมจะพาไปทำความรู้จักกับบรรดาปลาหมอสีที่น่ารักเหล่านี้
         ปลาหมอแคระ เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายๆประเทศ และยังเป็นแม่น้ำที่หลายๆคน แค่ได้ยินชื่อก็ขยาดในความน่ากลัวและความลึกลับของแม่น้ำในป่าอเมซอนแล้ว แต่คุณทราบไหมว่าในแม่น้ำอเมซอนที่ทุกคนกลัวกันนั้น มีสิ่งที่สวยงามและมหัศจรรย์ซ่อนอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือปลาหมอแคระนี่เองครับ ปลาหมอแคระมีมากมายหลายสกุล แต่ที่ผมอยากจะชวนคุณมาทำความรู้จักกันในวันนี้คือ ปลาหมอแคระในตระกูลสกุลอพิสโตแกรมมา ( Genus Apistogramma ) เป็นปลาหมอแคระที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาปลาหมอแคระที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำนี้
ตู้ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาหมอแคระนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นตู้ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ แต่ถ้าจะให้ดีก็อย่าให้เล็กกว่า 24 นิ้วสำหรับเลี้ยงปลา 1 คู่เป็นใช้ได น้ำที่จะใช้เลี้ยงอพิสโตแกรมมา หากเป็นน้ำที่มาจากแหล่งน้ำ ธรรมชาติไม่มีส่วนผสมของคลอรีนก็สามารถที่จะนำไปใส่ตู้ปลาได้ แต่ถ้าน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาเป็นน้ำประปาที่มีคลอรีนเป็นส่วนผสม อาจจะต้องพักน้ำไว้ก่อนประมาณ 1 – 2 วัน หรือซื้อยาปรับสภาพน้ำมาใส่ลงไปในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1– 2 ชั่วโมง จึงจะสามารถนำปลาใส่ลงไปได้อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดก็คือเรื่องความ สะอาดของน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะน้ำที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

4.ปลาหมอเซวารุ่ม


         ปลาหมอเซวารุ่ม หรือ ปลาหมอเซวาลุ่ม (อังกฤษ: Severum, Banded cichlid) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heros severus อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
มีรูปร่างป้อมแบนข้างข้างปานกลาง หน้าผากมีความลาดชั้นมาก ปากอยู่ด้านล่าง มีริมฝีปากที่หนา ปลายครีบหลังและครีบก้นยาวแหลม ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเขียวมีสีส้มปน บริเวณใบหน้ามีลายประสีแดงกระจายอยู่ทั่ว ลำตัวมีสีดำพาดตามขวางประมาณ 6-8 แถบ ซึ่งลายนี้จะจางลงเมื่อปลาโตขึ้น
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในแม่น้ำโอริโนโคและแม่น้ำอเมซอน ในประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา โดยจะพบได้ในแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายของสภาพ ทั้งน้ำใส น้ำขุ่น หรือน้ำที่มีสีเหมือนสีกาแฟ โดยทั่วไปปลาที่มีขนาดเล็กจะพบมากในบริเวณแหล่งน้ำที่ไหลช้า และมีพื้นเป็นกรวดทราย หรือทรายปนโคลน ส่วนปลาที่โตเต็มวัยจะพบในบริเวณที่น้ำไหลแรงและมีพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น อุณหภูมิของน้ำประมาณ 23-29 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) 5.0-6.5
เป็นปลาที่กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ รวมทั้งแมลง
ปลาหมอเซลารุ่ม เป็นปลาที่นิยมเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามมาอย่างยาวนานแล้ว เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นปลาที่มีนิสัยเรียบร้อย ไม่ดุร้ายก้าวร้าวเหมือนปลาในวงศ์ปลาหมอสีชนิดอื่น ๆ อีกทั้งสามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้ปลาด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์ได้มีสีสันที่หลากหลายไปจากปลาสายพันธุ์เดิมในธรรมชาติมาก เช่น สีทองหรือสีแดง เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นปลาที่ใช้บริโภคกันในท้องถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า Acará-peba

5.ปลาหมอหอย
              (อังกฤษ: Shell dweller, Shelldweller, Shell-breeding, Ostracophil) เป็นชื่อสามัญเรียกปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี(Cichlidae) กลุ่มหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมการอาศัยตลอดจนผสมพันธุ์และวางไข่ไว้ในเปลือกหอย
               ปลาหมอหอย โดยมากเป็นปลาหมอสีขนาดเล็ก ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 2 นิ้ว (พบใหญ่ที่สุด 6 นิ้ว) จะพบอาศัยอยู่ในทะเลสาบแทนกันยีกาและทะเลสาบมาลาวี ในทวีปแอฟริกา จะอาศัยและผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงดูลูกปลาในเปลือกหอยที่ว่างเปล่าเสมือนรัง โดยจะเป็นเปลือกหอยที่เป็นหอยเปลือกเดี่ยว ชนิด Neothauma tanganyicense และสกุล Lanistes ของปลาที่พบในทะเลสาบมาลาวี             ปลาหมอหอย มีอุปนิสัยซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับคู่ของตัว มีพฤติกรรมหวงที่อยู่อาศัย เมื่อมีอันตรายเข้ามาใกล้ปลาหมอหอยจะเข้าไปหลบชั้นในสุดของเปลือกหอย และเมื่อปลาหมอหอยทั้งเพศผู้และเพศเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะจับคู่กันและช่วยกันทำความสะอาดเปลือกหอยและรอบ ๆ บริเวณเปลือกหอย เมื่อถึงเวลาวางไข่จะเข้าไปวางไข่อยู่ในเปลือกหอยและคอยเลี้ยงลูกอยู่ในเปลือกหอยจนลูกอายุได้ประมาณ 1 เดือนจึงออกจากเปลือกหอย ในระหว่างที่เฝ้าไข่หรือเลี้ยงลูก ปลาหมอหอยจะคอยว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหอยที่อาศัยอยู่ ไม่ให้ปลาตัวอื่นมาใกล้ ถ้าปลาตัวไหนว่ายมาใกล้ ๆ จะทำการขับไล่ไปทันที พฤติกรรมดังกล่าวจึงเสมือนกับว่าหวงเปลือกหอยของตัวเองมาก
ปลาหมอหอย มีประมาณ 15 ชนิด ล้วนแต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ด้วยความที่มีสีสันและพฤติกรรมที่แปลก น่าสนใจ ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเลี้ยงกันประมาณ 10 ชนิด เช่น Lamprologus ocellatus ที่ได้ชื่อว่าเป็นปลาหมอหอยชนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด โดยเฉพาะในตัวที่มีสีเหลืองสดหรือสีทองL. meleagris และหลายชนิดในสกุล Neolamprologus เช่น N. brevisN. similisN. boulengeriN. cauodopuntatusAltolamprologus compressiceps และA. calvus
สามารถเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้กระจก โดยวิธีการเลี้ยงทำไปโดยง่าย โดยพื้นตู้ควรปูด้วยทรายละเอียดและโปรยเปลือกหอยประเภทหอยเปลือกเดี่ยวลงไปให้ทั่ว เช่น หอยเชอรี่,หอยโข่ง หรือหอยหวาน เพราะเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ปลาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะทำการคัดเลือกเปลือกหอย และทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณที่วางเปลือก และจะขุดดึงเปลือกหอยให้ฝังลึกลงไปในพื้นทรายให้เห็นโผล่มาเฉพาะบริเวณรูเปลือกเท่านั้น ส่วนเปลือกหอยอันอื่นที่ไม่ได้ใช้ จะอมทรายมาเทกลบเพื่อไม่ให้ปลาตัวอื่นมาใช้ได้ เมื่อรังถูกสร้างเสร็จแล้ว ปลาทั้งคู่จะอาศัยหากิน ตลอดจนว่ายเข้าออกบริเวณาปากเปลือกหอยของตนเท่านั้น จนกระทั่งมีลูกปลาตัวเล็ก ๆ ลูกปลาก็จะว่ายอยู่บริเวณปากเปลือกหอยที่เป็นรังของตน พร้อมด้วยปลาพ่อแม่เป็นผู้ดูแล และจะผลุบหลบเข้าไปในเปลือกหอยเมื่อเห็นว่ามีภัยอันตรายเข้ามาคุกคาม

6.ปลาหมอโครมายด์เขียว
             ปลาหมอโครมายด์เขียว (อังกฤษ: Green chromide, Pearlspot cichild;) ปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etroplus suratensis ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
เป็นปลาพื้นเมืองที่พบได้ในอินเดียตอนใต้จนถึงศรีลังกา เช่น เมืองสุรัต ในรัฐเกรละ หรือปุทุจเจรี โดยพบได้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำกร่อยที่ซึ่งน้ำจืดบรรจบกับน้ำเค็ม เช่น ปากแม่น้ำ เป็นต้น
มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 30 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 50 เซนติเมตร ปากมีขนาดเล็กแต่มีฟันแหลมคม กินอาหารหลักได้แก่ ตะไคร่น้ำ โดยมักจะเลาะเล็มกินตามโขดหินหรือวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ และกินแมลงหรือลูกปลาขนาดเล็กบ้างเป็นอาหารเสริม ปลาตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้กว่ามาก มีรูปร่างแบนข้างและกลม พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเขียว มีลายเส้นสีดำพาดตั้งแต่ท้องจนถึงกลางลำตัวประมาณ 5-6 เส้น ไปสิ้นสุดที่ข้อหาง บริเวณช่วงอกเป็นสีดำ บนลำตัวในบางตัวมีจุดสีขาวกระจาย สีบริเวณส่วนหัวเป็นสีเขียวอมเหลือง โดยเฉพาะในตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะมีสีดังกล่าวนี้สวยสดกว่าตัวอื่น ๆ
วางไข่ได้มากถึงครั้งละ 1,000 ฟอง โดยในช่วงนี้ปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีให้สวยสดกว่าเดิม เช่นบริเวณส่วนหน้าและครีบต่าง ๆ จะชัดเจนที่สุด ปลาทั้งคู่จะช่วยกันดูแลไข่อย่างใกล้ชิด ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 36-48 ชั่วโมง โดยที่ปลาตัวอ่อนในช่วงแรกจะรับอาหารจากถุงไข่แดงที่มีติดตัวมา จนประมาณถึงวันที่ 7 เมื่อถุงดังกล่าวยุบลง และว่ายน้ำได้แข็งแรงแล้ว ลูกปลาจะกินเมือกที่เกาะตามตัวพ่อแม่เป็นอาหารแทน
ปลาหมอโครมายด์เขียว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ด้วยความเป็นปลาที่มีอุปนิสัยไม่ก้าวร้าว จึงสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ หรือปลาหมอสีด้วยกันเองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นปลาที่นิยมบริโภคกันในท้องถิ่นอีกด้วย




7.ปลาหมอนกแก้ว

         ปลาหมอนกแก้ว (อังกฤษ: Blood parrot cichlid) เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างปลาหมอฟลามิงโก้ และปลาหมอซินสไปลุ่ม มีปากคล้ายกับนกแก้ว เป็นปลาที่ไม่มีในธรรมชาติ แต่ถูกผสมพันธุ์ขึ้นมาครั้งแรกที่ประเทศไต้หวัน ขนาดโตเต็มที่ 10-15 เซนติเมตร มีดวงตาโต ม่านตาใหญ่จนบางคราวดูไม่เหมือนทรงกลม เป็นวงรีหรือไม่ก็เป็นขีด ดำ ๆ หนา ๆ พาด ผ่านตามแนวนอนของ ลูกตา ตู้ที่เหมาะสม ไม่ควรต่ำกว่า 30 นิ้ว เป็น ปลาที่ค่อนข้าง ก้าวร้าว อันที่จริง เป็นปลาที่ไม่ค่อยดุนัก และสามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่นที่ ขนาดเท่ากันได้ สามารถให้อาหารสำเร็จรูปและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหารได้

8.ปลาหมอเท็กซัสแดง


ปลาหมอเท็กซัสแดง
          ปลาหมอเท็กซัสแดง หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เท็กซัสแดง (อังกฤษ: Red texas cichlid) เป็นปลาหมอสีข้ามชนิดระหว่างปลาหมอเท็กซัสเขียว ซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดจากทางอเมริกากลางถึงเม็กซิโก โดยทั่วไปการเพาะพันธุ์มักนิยมใช้ปลาหมอเท็กซัสเขียวตัวผู้กับปลาหมอสีที่ลอกสีผิวเป็นสีแดง เช่น ปลาหมอเรดอเมริกาปลาหมอนกแก้วปลาซินสไปลุ่ม หรือปลาพื้นแดงลอกที่ผสมข้ามชนิดมาแล้วก็ได้ ซึ่งก็จะได้ลูกปลาที่เป็นเท็กซัสแดง แต่ในปัจจุบันมักใช้แม่ปลาหมอนกแก้วเนื่องจากลูกปลาเวลาลอกสีผิวแล้วมักมีสีแดงมากกว่าแม่ปลาชนิดอื่น

9.ปลาหมอฟลามิงโก้
         ปลาหมอฟลามิงโก้ หรือ ปลาหมอไมดาส (อังกฤษ: Red devil cichild, Midas cichlid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Amphilophus citrinellus) เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
พบกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีรูปร่างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะยาวได้ 25-30 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบนกว้าง ส่วนหัวจะมีโหนกนูนอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อโตเต็มที่ ริมฝีปากหนา ตาสีดำ ครีบอกแผ่กว้างปลายมนเล็กน้อย ครีบกระโดงหลังจะเรียวยาวแผ่กว้างไปทางด้านหลัง ครีบท้อง 2 อันเท่ากัน ขณะที่ครีบทวารจะแผ่กว้างคล้ายครีบกระโดงแต่ไม่ยาวมาก ครีบหางแผ่กว้างปลายมนเล็กน้อย
ลำตัวมีสีหลากหลายทั้งสีส้ม, เหลือง, ขาว ปนอยู่ โดยมีแถบสีดำแซม ขึ้นอยู่กับที่การเปลี่ยนสี หรือ "การลอก" ในภาษาเฉพาะของวงการปลาสวยงามว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งปลาที่มีสีส้มหรือแดง นิยมเรียกว่า ปลาหมอเรดเดวิล หรือ ปลาหมอเรดอเมริกา
ปลาหมอฟลามิงโก้เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว หวงอาณาเขตเป็นปลาที่อยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว ชอบขุดคุ้ยซอกหิน ซอกไม้ ในการหลบซ่อนตัว โดยเฉพาะปลาตัวผู้ที่มีโหนกใหญ่บนหัวจะก้าวร้าวมาก
ปลาหมอฟลามิงโก้ นั้นสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยงตั้งแต่ขนาด 24 นิ้วขึ้นไป โดยวางไข่ติดไว้กับพื้นหรือหิน ตัวเมียเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่จะออกไข่ได้ครั้งละ 400-800 ฟอง ลักษณะไข่มีสีเหลืองนวล ไข่ใช้เวลา 3 วัน ในการฟักเป็นตัว แยกเพศโดยการสังเกตที่ส่วนท้อง ช่องเพศของตัวเมียจะมีลักษณะกลมใหญ่กว่า ขณะที่ตัวผู้จะยาวแหลมยื่นออกมา และมีลำตัวและส่วนหัวใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด
ปลาหมอฟลามิงโก้ ถือเป็นปลาชนิดที่เป็นต้นแบบของปลาหมอลูกผสม หรือที่เรียกกันว่า ครอสบรีด เช่น ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นเป็นต้น 

              

10.ปลาหมอไตรมาคู

             ปลาหมอไตรมาคู หรือ ปลาหมอตาแดง (อังกฤษ: Three-spot cichlid, Trimac cichild; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cichlasoma trimaculatum)ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
ปลาหมอไตรมาคู เป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่เมื่อโตเต็มที่แล้วมีขนาดใหญ่ ถือเป็นต้นสายพันธุ์ของปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์น ซึ่งเป็นปลาหมอลูกผสมหรือครอสบรีดในปัจจุบัน และถือเป็นปลาหมอสีชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นมากที่สุด
             ปลาหมอไตรมาคู ถูกค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ โดย อัลเบิร์ต กึนเธอร์ นักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1896 มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแถบอเมริกากลาง ในประเทศเม็กซิโกและเอลซัลวาดอร์ มีลักษณะเด่น คือ หัวมีความโหนกนูน ซึ่งจะเริ่มปรากฏเมื่อปลามีความยาวได้ 9-10 นิ้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาจะเจริญเติบโตเร็วมาก จนกระทั่งถึง 14 นิ้ว จึงจะชะลอลง สีลำตัวมี 2 สี สีเหลืองออกส้มอ่อน ๆ โดยบริเวณลำคอเป็นสีแดงเล็กน้อย และอีกสีหนึ่ง คือ เหลือบสีเขียวออกดำ และบริเวณคอจะเป็นสีแดงเข้ม มีจุดสีดำคาดกลางลำตัว และมีจุดลักษณะคล้ายมุกอยู่รอบ ๆ จุดดำนั้น ดวงตาสีแดงสดใส  มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร ปลาตัวเมียจะมีครีบกระโดงหลังเป็นจุดสีดำ 2 จุด ขณะที่ปลาตัวผู้จะไม่มีจุดดังกล่าว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 6 เดือน โดยปลาจะวางไข่ติดไว้กับพื้นหรือวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ ซึ่งการวางไข่แต่ละครั้งจะออกโดยเฉลี่ยครั้งละ 1,000 ฟอง มากน้อยขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวแม่ปลา ซึ่งสัมพันธ์กับอายุและสุขภาพ





อ้างอิง
กระโดดขึ้น FLOWER HORN หรือ TRIMACU มีวิธีดูอย่างไร หน้า 39-40, นิตยสาร fish zone ฉบับที่ 17 ปีที่ 2: 15 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น
* Please Don't Spam Here. All the Comments are Reviewed by Admin.

Top Post Ad